ทำไมเราถึงแก่ชรา? (ตอนที่ 8/12) ... การสูญเสียการควบคุมการตรวจจับสารอาหาร
top of page

ทำไมเราถึงแก่ชรา? (ตอนที่ 8/12) ... การสูญเสียการควบคุมการตรวจจับสารอาหาร

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566




การแก่ชราเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายมิติ เพื่อให้ชีวิตของเรายืนยาวและมึสุขภาพดี ปัจจุบันเราพบว่า ขึ้นอยู่กับการทำงานที่สมดุลกันของ 4 ปัจจัย ที่เรียกว่า "Nutrient Sensors"


  • insulin หรือ IIS pathway - เกี่ยวพันกับอินซูลินและ insulin-like growth factor 1 (IGF-1) ที่ปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง นอกจากนี้ อินซูลินยังเป็นปัจจัยหลักที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ (Cell growth & division) และก็ยับยั้ง autophagy (กระบวนการย่อยสลายตัวเองและรีไซเคิลชิ้นส่วนของเซลล์) หากทำงานมาก หรือหลั่งออกมามาก จะทำให้แก่เร็วและร่างกายเสื่อมลง อาหารประเภทน้ำตาล แป้ง และโปรตีน จะกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ถ้าหลั่งออกมามากเกิน จะนำไปสู่ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) เมื่อเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลดลง แต่ร่างกายยังคงตอบสนองด้วยการผลิตอินซูลินเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้มีอินซูลินมาก ก็ทำให้ร่างกายแก่ชราเร็วมากขึ้น

  • The mTOR pathway (Mechanistic of Rapamycin) - ถูกกระตุ้นโดยกรดอะมิโน โดยเฉพาะ ลิวซีน (พบในโปรตีน) จะควบคุมกระบวนการเพิ่มจำนวนเซลล์ การเติบโตของเซลล์ (Cell growth & division) ในร่างกาย mTOR สัมพันธ์กับโปรตีนที่เรากินเข้าไป หากกระตุ้นให้เกิด mTOR มาก จะส่งผลทำให้เซลล์เสื่อมไว กระบวนการรีไซเคิลโปรตีนของเซลล์ที่เรียกว่า "Autophagy" จะลดลง เกิดโปรตีนสะสมมากไปในเซลล์จนเซลล์เสื่อมและตายไป

  • Sirtuin pathway ถูกกระตุ้นโดย NAD+ จะควบคุมการแสดงออกของยีนโดยการปรับเปลี่ยนฮิสโตนและโปรตีนอื่นๆ ช่วยเพิ่ม autophagy, การซ่อมแซม DNA, การทำงานของไมโตคอนเดรีย และการต้านทานความเครียด นอกจากนี้ยัง ยับยั้ง เส้นทาง IIS และ mTOR

  • AMPK pathway เป็นโมเลกุลที่คอยปรับสมดุลพลังงานในเซลล์ หากเซลล์มีพลังงาน (ATP) ต่ำ AMPK จะทำงานมากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลพลังงาน ตรงกันข้าม หากเซลล์มีพลังงาน (ATP) สูง AMPK จะทำงานลดลง นอกจากนี้ AMPK ยังส่งเสริม Autophagy อีกด้วย


เส้นทางการตรวจจับสารอาหารเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นต่อการรักษาสภาวะสมดุลของเซลล์และการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น เส้นทางเหล่านี้จะถูกควบคุมลดน้อยลงหรือควบคุมไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น การอักเสบเรื้อรัง ความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ความเสียหายของ DNA, การเปลี่ยนแปลงของอีพิเจเนติกส์, การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ที่อาจจะเปิดให้ใช้งานมากหรือน้อยเกินไป ในทิศทางที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สมดุลก็เป็นได้



การสูญเสียการควบคุมการตรวจจับสารอาหาร (Deregulated nutrient sensing) จึงส่งผลเสียต่อการทำงานของเซลล์ เช่น:

  • IIS และ mTOR ถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เพิ่มจำนวนเซลล์ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังทำลาย autophagy และเพิ่มความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้เซลล์เสียหายและทำงานผิดปกติได้

  • การกระตุ้น Sirtuin และ AMPK ที่น้อยเกินไป จะลดการทำงานของ autophagy และไมโตคอนเดรีย ทำให้ควบคุมการผลิตพลังงานลดลง นอกจากนี้ ยังจะลดความต้านทานต่อความเครียดและการซ่อมแซม DNA


สรุป เราสามารถปฏิบัติตัวเพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียการควบคุมนี้ได้ ดังต่อไปนี้

  • รักษาสมดุลร่างกาย โดยไม่กระตุ้นอินซูลินออกมามากเกินไป (ไม่ให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน)

  • ไม่กระตุ้น mTOR มากเกินไป นั่นคือ ลดการทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ลง ทานโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น และไม่เน้นทานโปรตีนสูงเกินไป

  • ทำ Intermittent Fasting (IF) - เพื่อลด Insulin resistance & mTOR เพื่อกระตุ้น AMPK ส่งเสริมกระบวนการ Autophagy

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบสมดุล (Balance Cardio & Weight Training Exercise) เพื่อกระตุ้น AMPK

  • เสริมสารอาหารบางชนิด (Dietary supplements) ที่พอมีข้อมูลสนับสนุนว่ากระตุ้น AMPK เช่น สารกลุ่มโพลิฟีนอล (ในผลไม้หลากหลายชนิดและอื่น ๆ) ดื่มชาเขียว หรือ เสริมสารสกัดชาเขียว (EGCG), ดื่มไวน์แดง, ดื่มกาแฟ, เสริมกรดไขมันโอเมก้า 3, ทานปลาทะเลที่มีไขมัน เป็นต้น (แนะนำปรึกษาและดูแลสั่งจ่ายโดยแพทย์เสมอ)


==================


อ้างอิง:-


  • - All about deregulated nutrient sensing and how it affects aging – QYRAL

  • López-Otín, C., Blasco, M. A., Partridge, L., Serrano, M., & Kroemer, G. (2013). The hallmarks of aging. Cell, 153(6), 1194-1217.

  • Milman, S., Huffman, D. M., & Barzilai, N. (2016). The Somatotropic Axis in Human Aging: Framework for the Current State of Knowledge and Future Research. Cell Metabolism, 23(6), 980-989. doi:10.1016/j.cmet.2016.05.014

  • Salminen, A., & Kaarniranta, K. (2012). AMP-activated protein kinase (AMPK) controls the aging process via an integrated signaling network. Ageing Research Reviews, 11(2), 230-241. doi:10.1016/j.arr.2011.12.005


bottom of page