CBD ช่วยเรื่องนอนได้จริงหรือไม่?
top of page

CBD ช่วยเรื่องนอนได้จริงหรือไม่?

น.พ.บรรลือ กองไชย - Barami Lab

 


ปัจจุบันมีเรื่องวุ่นวายมากมายในชีวิตประจำวันของคนเรา ความเครียดจึงเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสังคมคนเมือง ทำให้มีอาการนอนไม่หลับตามมา ยิ่งนอนไม่หลับมากเท่าไหร่ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนต้องพึ่งยานอนหลับจากทางแพทย์


อาการนอนไม่หลับจึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก หลายคนจึงมองหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ยานอนหลับ ... สาร CBD ที่พบในพืชกลุ่ม cannabis จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คนให้ความสนใจกันมาก แต่ก็สงสัยกันมากว่าจะช่วยให้นอนหลับได้จริงหรือ และใช้แล้วจะมีผลต่อจิตประสาทหรือไม่


มาดูงานวิจัยที่เค้าทำกันในต่างประเทศ เผื่อจะช่วยให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ...


สารกลุ่ม Cannabinoids มีหลากหลายกว่า 200 ชนิด สารสำคัญที่พบในพืชกลุ่ม cannabis คือ Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งจัดเป็นสารเสพติด มีผลต่อร่างกาย คือ ทำให้ซึม และง่วงนอน แต่สาร Cannabidiol (CBD) จะส่งผลต่อการนอนหรือไม่? เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันพอควร


มีหลายงานวิจัยที่บ่งบอกว่าสาร CBD มีผลต่อร่างกายทั้งทำให้ตื่นตัวและง่วงนอนได้ ขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ


CBD มีผลต่อการนอนจริงมั้ย?

เรื่องนี้มีคนสงสัยกันมากพอควรว่า CBD ช่วยเรื่องการนอนหลับได้จริงหรือ?


สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยใช้น้ำมันกัญชา มั่นใจว่า CBD ช่วยเรื่องการนอนได้ ทำให้หลับลึก แต่ไม่ได้ทำให้ง่วง เวลาตื่นเช้าก็รู้สึกสบาย สดชื่น

งานวิจัยเรื่อง CBD และการนอนหลับ เริ่มมีการทำกันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า CBD มีผลอย่างมากต่อการนอนหลับ ดังนี้



+ CBD ปริมาณสูงช่วยเรื่องนอนหลับ

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2013 ลงใน Journal of Psychopharmacology ที่ทำการทดสอบในหนูเพื่อดูผลของสาร CBD ในขนาดที่ต่างกันเทียบกับยาหลอก


การทดลอง ทำโดยฉีดสาร CBD ที่ขนาด 2.5, 10, 40 มก.ต่อ กิโลกรัม (mg/kg.) ให้กับหนู พบว่า หนูที่ได้รับสารขนาด 10 หรือ 40 มก. จะเพิ่มเวลาในการนอนนานขึ้น ส่วนหนูที่ได้ CBD 40 มก.จะเพิ่มเวลาของ Rapid Eye Movement (REM sleep) ซึ่งการนอนช่วง REM จะเป็นช่วงกำลังฝันที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตื่นนอน ทีมวิจัยคาดการณ์ว่า ความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์จะได้รับผลกระทบในช่วงการนอนในเฟสนี้ นอกจากนี้ยังพบว่าหนูที่ได้รับ CBD 40 มก.จะมีการเพิ่มขึ้นของการหลับช่วง slow-wave และการฟิ้นฟู


ส่วนหนูที่ได้ CBD 10 มก. จะมีการนอนช่วง REM ลดลง (การนอนช่วง REM จะเป็นระยะที่สั้นกว่าระยะ non-REM และก่อนที่จะเข้าสู่ระยะ REM จะเป็นช่วงที่หลับลึกและมีการฟิ้นฟูเกิดขึ้น)


สรุปได้ว่า ปริมาณของ CBD ที่สูงจะมีผลต่อการนอนมากกว่าในปริมาณที่ต่ำ



+ CBD ช่วยให้ประสาทตื่นตัว

ถ้าเรารู้สึกไม่กระปรี้กระเป่า การได้รับสาร CBD ในปริมาณต่ำ จะช่วยสมองตื่นตัวได้


จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงใน Psychopharmacology ในปี 1977 โดยให้สาร CBD 20 มก. กับหนู พบว่า การนอนช่วง slow-wave (deep sleep) ลดลง ซึ่งบ่งบอกว่า CBD จะช่วยให้มีพลังและตื่นตัวได้ และเมื่อให้ CBD 40 มก.ก็จะให้ผลตรงกันข้าม คือเวลานอนในช่วง slow-wave จะเพิ่มขึ้น ความตื่นตัวจะลดลลง และเมื่อให้ต่อเนื่องกันในปริมาณสูง ติดต่อกัน 15 วัน ฤทธิ์นี้จะลดลง




+ CBD ช่วยลดอาการง่วงซึมจากฤทธิ์ของ THC

คนที่หยอดน้ำมันกัญชาจะรู้สึกง่วงซึม เป็นผลจากฤทธิ์ของสาร THC ซึ่งมีงานวิจัยที่ทำการทดสอบในคน ลงในวารสาร Journal of Clinical Psychopharmacology ปี 2004 เพื่อศึกษาผลของ CBD และ THC ในอาสาสมัครผู้ใหญ่ 8 คน โดยเป็นการหยอดเข้าไปทางปากก่อนนอน ตอน 22.00 น. ซึ่งสารที่ใช้มีดังนี้

  • ยาหลอก (Placebo)

  • THC 15 มก.

  • THC 5 มก. + CBD 5 มก.

  • THC 15 มก. + CBD 15 มก.

ผลที่ได้ พบว่า ปริมาณสาร THC และ CBD ที่สูงจะกระตุ้นให้มีอาการตื่นตัว มากกว่าอาการง่วงนอน และการให้สาร CBD และ THC ร่วมกันในปริมาณต่ำ จะไปลดวงจรการนอนหลับในระยะที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงแรกของการหลับลึก (first phase of deep sleep) และบ่งบอกว่า CBD จะช่วยลดอาการง่วงซึมที่เกิดจากผลของ THC และยังกระตุ้นให้สมองตื่นตัว



+ CBD ในปริมาณสูงอาจจะช่วยอาการนอนไม่หลับได้ (Insomnia)

การให้สาร CBD ในปริมาณสูงจะมีประโยขน์ในการรักษาอาการนอนไม่หลับ มีงานวิจัยที่ลงใน Journal of Clinical Pharmacology ในปี 1981 ทำการลดลองกับอาสาสมัครที่มีปัญหาการนอน จำนวน 15 คนจะได้รับสาร CBD 40, 80 และ 160 มก. เทียบกับยาหลอกและยานอนหลับ Nitrazepam 5 มก. ตลอดระยะเวลาทดสอบ 5 สัปดาห์


ผลที่ได้พบว่า อาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับ CBD ขนาด 160 มก.จะนอนหลับได้ดีมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอกและการฝันก็ลดน้อยลงด้วย




+ สารสกัดใน Cannabis ตัวอื่นที่ช่วยเรื่องนอนหลับ


ในสารสกัดจากกัญชงนอกจากจะมีสาร cannabinoids แล้วยังมีสารกลุ่มเทอร์พีนอยู่ด้วย ซึ่งเทอร์พีนที่ช่วยเรื่องการนอนหลับมี 2 ชนิดคือ Myrcene และ Linolool



ทำไม CBD จึงมีผลต่อการนอน?

พืชในกลุ่ม cannabis มีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้านด้วยกัน ซึ่งเป็นผลจากกลไก Endocannabinoid system (ECS)


ระบบ ECS เป็นเครือข่ายเส้นใยประสาทที่พบได้ทั่วไปในร่างกายมนุษย์และสัตว์ ซึ่งในเครือข่ายนี้จะมีเซลล์ที่เรียกว่า Cannabinoid receptor จำนวนมากที่จะจับกับสารกลุ่ม cannabinoids เพื่อปลดล๊อคและยังทำการสื่อสารระหว่างสมองและร่างกาย ทำให้ร่างกายตอบสนองในทิศทางที่ถูกกำหนดไว้


Cannabinoid receptors พบได้ทั่วไปในระบบประสาท อวัยวะต่างๆ และระบบภูมิคุ้มกันทั่วร่างกาย แต่จะพบมากในสมองและประสาทสันหลัง ซึ่งจะทำงานส่งผลต่อกลไกอื่นๆ มากมาย รวมไปถึง ความจำ อารมณ์ การเรียนรู้ การนอนหลับ ความอยาก ความหิวและอื่นๆ อีกมาก


นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไม Cannabinoids รวมทั้ง CBD จึงมีผลต่อกลไกการนอนหลับ



bottom of page