การผลัดเซลล์ผิวหนัง (Peeling)
top of page

การผลัดเซลล์ผิวหนัง (Peeling)

หลักการ:

โดยธรรมชาติแล้ว ผิวหนังของคนเราในวัย 20 ปี จะมีการผลัดเซลล์ผิวทุก 3 สัปดาห์ และเมื่ออายุของคนเรามากขึ้น ความสามารถและประสิทธิภาพการแบ่งตัวของเซลล์จะไม่ค่อยดีและลดน้อยลง   เซลล์เก่าที่ตายแล้วมักจะไม่ยอมหลุดลอกออกไปง่ายๆ และจะเกาะรวมกัน ไม่ยอมให้เซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเพื่อทำหน้าที่หมุนเวียน   ทำให้ใบหน้าที่หมองคล้ำด้วยแสงแดดและมลภาวะยิ่งดูแย่ขึ้นไปอีก — เป็นผลให้ระยะเวลาในการผลัดเซลล์ผิวก็จะยาวนานขึ้นเรื่อยๆ เช่นเมื่ออายุ 70 ปี จะผลัดเซลล์ผิวทุก 7 สัปดาห์



ดังนั้นเพื่อที่จะให้ผิวคงสภาพที่ดูดีและสดใสอยู่ตลอดเวลา เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีการมาช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวหนังให้เร็วกว่าปกติ


เราแบ่งวิธีการผลัดเซลล์ผิวเป็น 2 วิธีหลักด้วยกัน คือ

Physical peeling Chemical peeling


Physical peeling ได้แก่การผลัดเซลล์ผิวโดยใช้อุปกรณ์ช่วย และส่วนใหญ่จะนิยมใช้กันอยู่ในกลุ่มศัลยแพทย์ความงาม เช่นการทำ Dermabrasion เป็นต้น ซึ่งการผลัดเซลล์ผิวด้วยวิธีนี้ จะลงลึกถึงชั้นหนังแท้ (Dermis)   ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงจากแผลเป็นจึงสูงมาก  วิธีนี้จึงเหมาะกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จริง จึงจะช่วยลดริ้วรอยและหลุมสิวที่ลึกได้


ที่เบาลงมาหน่อยที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามนิยมใช้กันก็คือ การกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี (Microdermabrasion) ซึ่งช่วยได้เฉพาะริ้วรอยเล็กๆ และช่วยให้ผิวหน้าใสขึ้นมาบ้างเล็กน้อย เพราะเป็นเพียงแค่การขัดขี้ไคลเท่านั้น


ครับ... หัวข้อนี้ ผมจะขอเน้นกันที่ Chemical peeling ซึ่งถือว่าเป็นหัวข้อสำคัญ ที่คนส่วนใหญ่รู้จักและทำกันทั่วไป ทั้งในคลินิกแพทย์ความงามไปจนถึงร้านเสริมสวยทั่วไป ราคาก็แตกต่างกันไป


จริงๆ แล้ว Chemical peeling เป็นการนำสารเคมีมาช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวหนังให้ลอกหลุดได้ง่ายขึ้น และสารเคมีที่นำมาใช้ก็มีหลายชนิด, หลายความเข้มข้นและหลายสูตร แตกต่างกันไป หลายคนนำไปใช้อย่างผิดวิธี – อันเนื่องมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้ ผมจึงต้องนำมาบอกกล่าวกัน เพื่อเลี่ยงการลองผิดลองถูกกันครับ


เรามาเริ่มกันเลยครับ...


CHEMICAL PEELING


เป็นการใช้สารเคมีทาลงไปที่ผิวหนัง และสารเคมีนี้ก่อให้เกิดแผลขึ้นที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นแผลที่เราจะต้องควบคุมได้   จากนั้นร่างกายเราก็จะเร่งขบวนการซ่อมแซมทำให้เกิดผิวหนังใหม่ตามมา ผลที่ได้รับคือ ผิวจะเรียบเนียน ขาวใส โครงสร้างผิวดีขึ้น ทั้งริ้วรอยและร่องผิวก็ตื้นขึ้น เป็นต้น


ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จะให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและมีอาการข้างเคียงจากการใช้น้อยที่สุด พวกคุณจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสารเคมีแต่ละตัวที่จะนำมาใช้ รวมไปถึงความเข้มข้นต่างๆ และสูตรที่นิยมกัน (ใช้กันทั้งสำหรับพนักงานที่ทำงานด้านความงามทั่วไปจนถึงแพทย์ความงาม) ว่าแต่ละตัวสามารถซึมผ่านผิวหนังลงไปได้ลึกมากแค่ไหน โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำงานด้านนี้ ต้องรู้ว่าพยาธิสภาพในแต่ระดับความลึกนั้น จะต้องเลือกใช้สารเคมีอะไร ที่ความเข้มข้นเท่าไหร่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ


มาดูกันครับว่า Chemical peeling ก่อให้เกิดความลึกที่ชั้นผิวหนังได้กี่ระดับกัน (ขอให้คุณดูเรื่อง กายภาคของผิวหนังประกอบด้วยนะครับ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น)


  • Light Chemical Peeling เป็นการผลัดเอาเซลล์ผิวชั้นนอกสุด ซึ่งก็คือขี้ไคล (Stratum corneum) ออกไป จะช่วยให้หน้าขาวใส ลดสิวเสี้ยน สิวอุดตันได้ วิธีนี้นิยมใช้ในการรักษาสิวและกำจัดน้ำมันส่วนเกินที่ผิวหนัง

  • Medium Chemical Peeling นอกจากจะผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกสุดแล้ว ยังลงลึกไปถึงชั้นหนังแท้ช่วงบน (Upper dermis) ที่ระดับความลึกนี้ จะช่วยให้โครงสร้างผิวและสีผิวเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะที่เกิดจากรังสี UV ผลที่ได้รับคือ ริ้วรอย (Superficial wrinkle), ขี้แมลงวัน (Lentigines) รวมไปถึง Actinic Keratosis (มะเร็งผิวหนังระยะเริ่มแรก) จะลดน้อยลง

  • Deep Chemical Peeling จะลงลึกถึงชั้น Reticular dermis เหมาะกับการรักษาผิวที่ได้รับรังสี UV มากเกิน จะช่วยให้ร่องผิว (Deep wrinkle), Solar elastosis (ผิวร่วงโรยก่อนวันอันเนื่องจากคอลลาเจนและอีลาสตินถูกทำลายด้วยรังสี UV) ดีขึ้นได้ ปัจจุบัน นิยมใช้ CO2 laser resurfacing แทน เพราะให้ผลที่แม่นยำกว่า


สารเคมีที่นำมาใช้ในผลัดเซลล์ผิว


AHA (Alpha Hydroxy Acid)

ส่วนใหญ่จะได้จากผลไม้ตามธรรมชาติ ดังนี้

  • Glycolic acid – จากอ้อย

  • Malic acid – จากแอปเปิ้ล

  • Citric acid – จากผลไม้ตระกูลส้ม

  • Lactic acid – จากนมเปรี้ยว

  • Tartaric acid – จากไวน์และมะขาม


AHA จะช่วยทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างเซลล์ชั้นบนสุดลดน้อยลง ทำให้เซลล์ผิวลอกหลุดได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันจะกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังใหม่เจริญขึ้นมาแทนที่ และช่วยซ่อมแซมและเสริมสร้างเนื้อเยื่อ (คอลลาเจน) ในชั้นหนังแท้ด้วย (เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน) เป็นผลให้ผิวหน้าดูเรียบเนียน และขาวสดใสกว่าเดิม


ในกลุ่มกรด AHA ทั้งหมดแล้ว กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะมีขนาดโมเลกุลเล็ก จึงสามารถซึมผ่านเข้าสู่ผิวชั้นหนังแท้ (Dermis) ได้ง่าย และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ดี ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุด


ส่วน Lactic acid จะนิยมรองลงมา เหมาะกับผิวที่แพ้ง่าย และต้องการความชุ่มชื้น


สำหรับริ้วรอยต่างๆ บนใบหน้าของเราที่สามารถรักษาได้ด้วย AHA นั้น หมายถึงริ้วรอยที่ไม่ลึกเกิน ถ้าเป็นริ้วรอยตื้น มักจะเห็นผลชัดเจนในระยะ 1 - 2 เดือน ส่วนริ้วรอยขนาดปานกลางจะใช้เวลานาน 3 เดือนขึ้นไป สำหรับริ้วรอยที่ลึกมาก AHA จะไม่ช่วยอะไรเลย


NOTE: ความเข้มข้นของกรด AHA ที่จะใช้เพื่อให้ผลการรักษาที่ดีนั้น จะต้องมีสภาวะความเป็นกรด (pH < 7) และต้องมีความเข้มข้นมากกว่า 10 % ขึ้นไป (แนะนำ 30 – 70 %)

ปัจจุบันมีกรด AHA ขายอยู่ทั่วไปและราคาก็แตกต่างกันมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานพอที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีได้   ด้วยเหตุนี้จึงควรเลือกซื้อกรด AHA (หรือกรดไกลโคลิก - Glycolic acid) จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ


ถ้ามีความเข้มข้นมากก็จะได้ผลมากขึ้น แต่จะรู้สึกระเคืองที่ผิวค่อนข้างมากตามไปด้วย จึงไม่ควรเริ่มต้นใช้ด้วยความเข้มข้นที่สูง ควรเริ่มที่ความเข้มข้นต่ำก่อน แล้วค่อยปรับเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นสูงขึ้นไปเท่าที่ผิวของแต่ละคนจะรับได้ โดยที่ไม่รู้สึกแสบร้อนเกินไป (การใช้ในช่วงระยะแรกอาจจะรู้สึกคันยิบที่ผิว เกิดจาก Stinging effect ทิ้งไว้ไม่กี่นาทีก็จะทุเลา แต่ถ้าเห่อแดงคันขึ้นมา แสดงว่าเกิดอาการแพ้ ควรหยุดและทาด้วยยาแก้แพ้หรือ 0.02 TA gel)


สำหรับวิธีการทำทรีตเมนต์ด้วยกรด AHA ผมขอแยกไปพูดในบทถัดไป...


BHA (Beta Hydroxy Acid)


เป็นกรดที่ได้จากการสังเคราะห์ มีคุณสมบัติทนต่อความร้อน ไม่เสื่อมสลายง่ายเหมือน AHA ที่สกัดมาจากธรรมชาติ สารกลุ่มนี้ตัวหนึ่งที่เรารู้จักกันดี ก็คือ กรดซาลิกไซลิก (salicylic acid) ที่ได้จากพริก มีฤทธิ์ปวดแสบปวดร้อน


BHA จะทำให้เซลล์ผิวหนังชั้น Keratin ลอกหลุดได้เร็วกว่าพวก AHA แต่ก็จะรู้สึกระคายมากกว่าและผิวลอกเป็นขุยได้ง่าย ไม่นิยมนำมาใช้ในการทำทรีตเมนต์ (หรือ Peeling)  แต่นิยมนำมาใช้ในการลอกหูด หรือทาผิวเท้าที่หนาและแตก เป็นต้น


ในเครื่องสำอางกำหนดให้ใช้ได้ที่ความเข้มข้นไม่เกิน 3% แต่ที่นิยมคือที่ 0.5 – 1%


TCA (Trichloroacetic Acid)


การผลัดเซลล์ผิวด้วย TCA นี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งในคลินิกและสถานความงาม เนื่องจากใช้ได้ผลดีกับริ้วรอยและฝ้ากระที่ไม่มากเกินไป หลายท่านอาจจะใช้ไปทั้งที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับกรดตัวนี้อย่างจริงจัง ซึ่งก็อาจจะให้ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้ ทั้งที่กรดตัวนี้ ถ้าใช้อย่างเข้าใจและถูกวิธี จะให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี


ความลึกที่กรด TCA ลงไปถึงและผลลัพธ์ที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของกรด TCA ที่ใช้


  • 10 – 20% ให้ผลดีในการรักษาสิวและหน้ามัน

  • 35 – 45% กรดจะซึมลงไปลึกขึ้น จนถึงชั้นบนของหนังแท้ (Upper dermis)

  • 50% กรดจะลงไปลึกถึงชั้นล่างของหนังแท้ (Reticular dermis)


นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำแข็งแห้งและ Jessner's solution มาใช้ร่วมในการรักษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซึมซับลงในชั้นผิวให้ลึกยิ่งขึ้น


ที่กล่าวมานี้ยังมีสารพวก Phenol ที่นำมาใช้ทำเบบี้เฟส ซึ่งสารตัวนี้มีอันตรายสูง เพราะอาจจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ทั่วไป   ควรจะทำโดยแพทย์ความงามที่มีประสบการณ์และมีเครื่องมือตรวจเช็คห้วใจพร้อม เพื่อป้องกันอันตรายที่จะตามมา   นอกจากนี้ สาร Phenol ยังให้ผลลัพธ์ไม่ดีนักในผิวของคนเอเซีย จึงไม่เป็นที่นิยม


สำหรับสารตัวอื่นที่นำมาใช้ทำทรีตเมนต์อีกเล็กน้อย ผมจะไม่ขอกล่าวถึง เพราะยังไม่มีผลงานวิจัยรับรองและไม่เป็นที่นิยมกันครับ หวังว่าบทความนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนสมาชิกได้เป็นแนวทางศึกษาต่อไปนะครับ





bottom of page