ครีมบำรุงผิว ที่เหมาะกับสภาพผิวลูกค้า เลือกอย่างไรให้ถูกใจ?
top of page

ครีมบำรุงผิว ที่เหมาะกับสภาพผิวลูกค้า เลือกอย่างไรให้ถูกใจ?

มอยเจอร์ไรเซอร์ — จะให้คำแนะนำลูกค้าอย่างไร? ในการเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพผิวลูกค้า





ในบทความนี้ เราจะมาคุยกันเรื่อง … การเลือก ครีมบำรุงผิว มอยเจอร์ไรเซอร์ ให้เข้ากับสภาพผิวลูกค้า คุณควรรู้จักประเภท สารให้ความชุ่มชื้นผิว แล้วคุณจะรู้ว่าควรเลือก ครีมบำรุง อะไรให้ตรงใจลูกค้าของคุณ


คุณเคยรู้สึกสงสัยบ้างหรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่แนะนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบรนด์เนม มีความรู้เรื่องเครื่องสำอางที่ตนเองขายและสภาพผิวของคุณดีพอแค่ไหน?   คุณมั่นใจได้อย่างไรว่าเครื่องสำอางที่ลูกค้าซื้อนั้นเหมาะกับสภาพผิวของลูกค้าจริง?


คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่คาใจลูกค้าทั่วไป โดยเฉพาะยิ่งคุณเป็นเจ้าของแบรนด์เองหรือมีพนักงานขายสินค้าแทนคุณ คนทั่วไปจะรู้สึกว่าคุณเพียงต้องการขายของให้ได้/ต้องการค่าคอมจากการขายเท่านั้น!


ดังนั้นคุณจึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเป้าหมายของคุณให้ได้ว่า พนักงานขายและสินค้าของคุณสามารถแก้ปัญหาของพวกเขาได้จริง — ด้วยเหตุนี้ คุณและทีมขายของคุณจึงต้องเรียนรู้เรื่องผิวประเภทต่างๆ และผลิตภัณฑ์ของคุณให้ดี ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าของคุณได้รับความเชื่อถือในระยะยาว นั่นหมายถึงรายได้จำนวนมากที่ตามมาอย่างยั่งยืน!


ก่อนอื่นมาเรียนรู้พื้นฐานบางเรื่องกันก่อนครับ…


การเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรทำในการดูแลผิวหน้าพื้นฐาน ความคิดนี้อาจจะแตกต่างจากความเชื่อของคนส่วนใหญ่และความคิดเห็นของนักวิชาการบางท่าน แน่นอนครับ… ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องให้ความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังเพิ่มมากขึ้น   ในความเป็นจริง การเลือกใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ผิด อาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี


คนที่มีผิวมันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ เนื่องจากมีน้ำมันที่ถูกหลั่งออกมาจากผิวมากมายอยู่แล้ว  คนกลุ่มนี้ ต่อมไขมันที่ผิวของพวกเขา จะผลิตน้ำมันออกมามากเกินความจำเป็นที่จะให้ผลในการช่วยให้ผิวนุ่มและชุ่มชื้น  การใช้มอยเจอร์ไรเซอร์เป็นประจำ อาจจะเป็นสาเหตุให้ผิวเกิดการอุดตันได้


ส่วนคนที่มีผิวธรรมดา ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากผิวของพวกเขาสามารถผลิตน้ำมัน, emollient และ humectants ธรรมชาติได้อย่างเพียงพอแล้ว   ในบางสภาวะ เช่น อากาศแห้ง หรือสภาวะที่ผิวถูกน้ำบ่อยๆ คนที่มีผิวธรรมดา อาจจะต้องการใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ที่ปราศจากน้ำมันหลังจากที่ทำความสะอาดผิวแล้ว เพื่อป้องกันผิวแห้ง


คุณอาจจะมีคำถามว่า… แล้วมอยเจอร์ไรเซอร์จะเหมาะกับผิวประเภทไหน?



มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดอิมัลชัน (Emulsion Based Moisturizers)


โดยทั่วไป น้ำและน้ำมันไม่สามารถรวมตัวกันได้และไม่สามารถละลายในซึ่งกันและกันได้เช่นกัน  ดังนั้นเมื่อเราผสมน้ำและน้ำมัน ทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันแล้วเขย่า จะเกิดเป็นหยดของน้ำมันเล็กๆ ขึ้นในน้ำ ซึ่งส่วนผสมทั้งสองจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างคงตัว ต้องใช้สารที่เรียกว่า สารอีมัลซิไฟเออร์ (emulsifier) ที่เป็นสารลดแรงตึงผิว (Surfactant)


สารนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้หยดของน้ำและน้ำมันเกิดการรวมตัวกัน ทั้งใน oil in water อิมัลชัน และใน water in oil อิมัลชัน — ครับจุดนี้ อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนผิวแห้งที่ผลิตน้ำมันได้เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่กำลังเป็นประจำเดือนหรือหลังจากเป็นประจำเดือนแล้ว


มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิด oil in water อิมัลชันค่อนข้างที่จะมีเนื้อที่หนักกว่า ทำให้เหมาะกับคนที่มีผิวแห้ง เนื่องจากมอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดนี้มีแน้วโน้มที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดสิวมากกว่ามอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดที่ปราศจากน้ำมัน   ดังนั้นจึงไม่ควรใช้กับคนที่มีผิวธรรมดาและผิวมัน



มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดที่เคลือบผิว (Occlusive Moisturizers)


มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดนี้จะช่วยเคลือบผิว โดยการสร้างฟิล์มบางๆ เคลือบที่ชั้นบนสุดของผิวและสามารถกันน้ำได้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยออกจากผิว


ส่วนประกอบของสารที่ช่วยเคลือบผิวกลุ่มนี้ ได้แก่ petrolatum เช่น วาสลีน, mineral oil, siloxane เช่น dimethicone และ cyclomethicone เป็นต้น   สารเหล่านี้อาจจะทำให้รูขุมขนอุดตันและทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้


ในคนผิวแห้ง ถ้าหากใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิด oil in water อิมัลชันแล้ว ไม่ช่วยให้ดีขึ้นก็ควรจะเปลี่ยนมาเลือกใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดนี้แทน  กรณีเช่นนี้อาจเกิดได้จาก ผิวแห้งที่เกิดจากการสูญเสียน้ำจากผิวหนังเป็นจำนวนมาก การใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดที่เคลือบผิวโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มี siloxane เป็นส่วนประกอบน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากช่วยเคลือบคลุมผิวเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำในชั้นผิวหนังได้ดีกว่าและทำให้ผิวชุ่มชื้นขึ้น



มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดปราศจากน้ำมัน (Oil-Free Moisturizers)


มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดนี้มักจะเรียกกันว่า Humectants ซึ่งเป็นสารที่สามารถดึงดูดน้ำเข้ามาและตัวมันเองยังสามารถอุ้มน้ำที่ดูดมาไว้ได้ จึงเปรียบเสมือนเป็นการกักเก็บน้ำไปด้วยในตัว สารในกลุ่มนี้ได้แก่ propylene glycol, glycerin, sodium PCA, hyaluronic acid, colloidal oatmeal, collagen และอื่นๆ เป็นต้น


ถ้าหากคุณมีผิวมันหรือผิวธรรมดาและรู้สึกว่าต้องการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังแล้วละก็ คุณควรเลือกใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดที่ปราศจากน้ำมันที่ว่านี้ครับ — น่าจะเหมาะที่สุด แต่มอยเจอร์ไรเซอร์ในกลุ่มนี้จะมีราคาค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น!



มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดที่คงอยู่ได้เป็นเวลานาน (Long-Lasting Moisturizers)


คนผิวแห้งในบางกรณีหรือในสภาวะอากาศที่แห้งมากๆ มอยเจอร์ไรเซอร์ธรรมดาอาจจะไม่สามารถช่วยได้ เนื่องจากให้ความชุ่มชื้นได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 – 2 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นผิวก็จะกลับมาแห้งอีกเหมือนตอนก่อนใช้   ดังนั้นมอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดที่สามารถคงอยู่ได้นานนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แทนที่จะต้องมาทามอยเจอร์ไรเซอร์ธรรมดาซ้ำทุกๆ สองชั่วโมง


มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดนี้จะประกอบไปด้วยคุณสมบัติสำคัญต่างๆ ของมอยเจอร์ไรเซอร์หลายชนิดมารวมกัน ประกอบไปด้วยสารที่เป็น humectant และ occlusive หลายชนิด เช่น dimethicone, colloidal oatmeal, glycerin, sodium PCA, hyaluronic acid, petrolatum และอื่นๆ เป็นต้น — มอยเจอร์ไรเซอร์ชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่มีผิวแห้งรุนแรงมาก




*** มอยเจอร์ไรเซอร์เป็นตัวนำสารสำคัญเข้าสู่ผิว


ในปัจจุบันนี้ หลายคนมักเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ประกอบปด้วยสารสำคัญ ที่ช่วยในการปกป้องและลดเลือนริ้วรอยได้ ดังนั้นการใช้ทั้งมอยเจอร์ไรเซอร์และผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอยจึงเป็นการใช้ที่มากเกินไป   นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอยส่วนใหญ่ มักมีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญร่วมด้วยอยู่แล้ว


ด้วยเหตุนี้ คนที่มีผิวมันหรือผิวธรรมดา สามารถที่จะข้ามขั้นตอนในการใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ธรรมดานี้ ไปเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอยเพียงอย่างเดียวได้เลย สำหรับคนที่มีผิวแห้งนั้นก็เช่นกัน เพียงแต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอยที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนประกอบมากเพียงพอต่อสภาพผิว แต่สำหรับในกรณีคนที่มีผิวแห้งมากอย่างรุนแรง ควรใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ทาตามหลังผลิตภัณฑ์ลบเลือนริ้วรอย แต่ควรทิ้งระยะเวลาไว้สักพักก่อน เพื่อให้สารสำคัญในผลิตภัณฑ์ลบเลือนริ้วรอยซึมผ่านเข้าไปสู่ชั้นใต้ผิวหนังเสียก่อน




bottom of page