เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจเครื่องสำอางในไทย!
top of page

เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจเครื่องสำอางในไทย!

อัปเดตเมื่อ 3 ก.ค. 2561

หลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า CODEX GMP และ ASEAN GMP กันมาบ้างแล้ว แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร .... พอจะรู้มั้ยครับ


โอเค เดี๋ยวผมจะมาเฉลยให้ฟังครับ


วันนี้ ผมอยากจะแชร์และคุยกันถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทยเลยก็ได้


มาเริ่มกันครับ ....


ช่วงที่ผ่านมาระยะ 5 - 10 ปีมานี้ มีการตื่นตัวกันอย่างมากในธุรกิจเครื่องสำอาง หลายคนเข้ามาสู่ธุรกิจตนี้ รวมไปถึงดาราห และก็มีเน็ตไอดอลหลายคนที่ได้แจ้งเกิดในธุรกิจนี้ กลายเป็นมหาเศรษฐีร้อยล้าน พันล้าน ภายในช่วงเวลาอันสั้น และช่วงนี้จะมีโรงงานผลิตเครื่องสำอางจำนวนมากเกิดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ถือได้ว่า ธุรกิจเครื่องสำอางในไทยได้ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามวงจรธุรกิจทั่วไป - ที่มีขึ้นก็มีลง


.... ในช่วงที่วงจรธุรกิจขึ้นไปสู่จุดสูงสุดนี้ จะสังเกตุเห็นว่า แทบจะทุกเว็บไซต์ที่รับจ้างผลิตเครื่องสำอาง มักจะแจ้งว่า ทางโรงงานของตนได้รับ CODEX GMP และพ่วงด้วย ISO 9001:2008 หรือไม่ก็ ISO 9001:2015 จะจริงเท็จแค่ไหน ก็มิอาจจะรู้ได้ .... แต่มีข้อสังเกตว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์กรณี เมจิกสกิน (Magic Skin Effect) ในเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา ปรากฎว่า หลายเว็บไซต์ที่เคยลงประกาศไว้ว่าทางโรงงานของตนได้ทั้ง GMP และ ISO 9001 ต่างก็ถอดป้ายนี้ออกกันแทบจะทันที โดยไม่ต้องนัดหมายกันไว้ เพราะอะไร?


เรามาทำความรู้จักกัน คร่าวๆ นะครับ...



GMP ย่อมาจากคำว่า Good Manufacturing Practice เป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นมาจาก หน่วยงานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ CODEX เพราะเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยด้านอาหาร ดังนั้น เมื่อพูดถึง GMP แล้ว ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจได้ว่าเป็น GMP CODEX หรืออีกชื่อที่มักเรียกกันในบ้านเราคือ "จีเอ็มพีสากล" นั่นเอง (ส่วนรายละเอียดเรื่องข้อกำหนดของ CODEX GMP จะมีอะไรนั้น ... ผมจะไม่ขอพูดถึง เพราะสามารถหาอ่านได้จากเว็บไซต์ทั่วไป)


GMP ได้เข้ามามีบทบาทต่อโรงงานผลิตอาหารในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 มาแล้ว และต่อมาทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้นำหลักเกณฑ์ GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 139 พ.ศ. 2543 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ตั้งแต่นั้นมา โดยจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก พวกเราจึงเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า GMP อย.


ต่อมาทาง อย. ก็ได้เริ่มวางมาตรการที่จะนำหลักเกณฑ์ GMP นี้มาบังคับใช้กับกลุ่มเครื่องสำอางบ้าง แต่เนื่องจากผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยจำนวนมาก เป็นระดับพื้นบ้าน หรือ OTOP ซึ่งไม่มีทุนทรัพย์มากมาย จึงไม่มีความพร้อมในการบังคับใช้ และทาง อย. เองก็ได้ผ่อนปรนมาตลอดเป็นเวลาหลายปี




นอกจากนี้ทางประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ต่างก็มีปัญหาเรื่องความพร้อมของผู้ประกอบการจำนวนมากในประเทศของตน จึงได้หารือกันเพื่อวางหลักเกณฑ์ให้เกิดมาตรฐานในการผลิตเพื่อส่งออกในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยนำเอา GMP CODEX มาศึกษาและปรับปรุงเกณฑ์ข้อบังคับบางประการให้สอดคล้องกับภูมิภาค และได้ออกมาเป็น ASEAN GMP


แม้ว่าหลักเกณฑ์ของ ASEAN GMP จะผ่อนปรนลงไปมาก แต่ก็ยังมีโรงงานผลิตเครื่องสำอางอีกจำนวนหนึ่ง (มากเสียด้วยสิ) ที่ไม่ได้จริงจังกับการสร้างมาตรฐานให้เหมาะสมตรงตาม ASEAN GMP แต่ก็อยากจะมีไว้อ้าง เพื่อเหตุผลทางการค้า ประกอบกับทาง อย. เองก็มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และไม่ได้จริงจังในการตรวจสอบ จึงเป็นช่องทางให้หลายโรงงานนำคำว่า GMP มาใช้อ้าง และก็ลุกลามมาถึงการใช้คำว่า CODEX GMP ตามด้วย ISO 9001:2008 (เอาก็ท่านสิ)


ด้วยเหตุนี้ ประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคทั้งหลาย ก็คงต้องช่วยตัวเองกันในการตรวจสอบนะสิ แต่เอ ....



แล้วมันจะเริ่มยังไงดีหละ?






.... เป็นคำถามที่ดี แต่ตอบยากจังครับ


แต่ไม่ต้องห่วงนะครับกับการหาคำตอบ เพราะอะไร?


เพราะหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดกับ เมจิกสกิน ทางเจ้าหน้าที่ทั้งทาง อย., ตำรวจและสคบ. จึงได้เข้าไปตรวจสอบ พบว่า มีการแอบอ้างมาตรฐานต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการนำเครื่องสำอางหมดอายุ และฉลากปลอม (... อีกมากมาย บลาๆๆๆๆ สุดจะบรรยาย) มาใช้ ซึ่งก็เข้าข่ายหลอกลวง งานนี้บอกได้คำเดียวครับ .... สาหัส ระดับเผาผีกันเลยละ


จุ๊ๆๆๆๆ .... ขอบอกอีกนิด งานนี้ปลุกของได้สำเร็จ!


อย. งานเข้าหละสิครับ


ตอนนี้เจ้าหน้าที่ อย. หลายท่านถูกทางตำรวจเรียกตัวไปสอบ เอาเป็นว่า เครียดจัดทั้ง อย.

นับจากนี้ไป อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เจ้าหน้าที่ อย. จะเอาจริงมากขึ้น และก็มากขึ้นเรื่อยๆ มีการเข้มงวดในทุกขั้นตอนของการขอเอกสาร รวมไปถึงการออกตรวจพื้นที่จริงก่อนออกใบอนุญาต และถ้ามีการจับได้ว่า เผยแผ่หรือโพสต์อะไรที่ไม่จริงละก็ งานนี้ทาง อย. เอาจริงครับ เจ้าของโรงงานอาจจะโดนปรับ ปิดโรงงาน หรืออาจจะติดคุกติดตะรางกันเลยนะครับ - ขอบอก!




อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป







ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ต้องตกใจกันนะครับ เพราะงานนี้กระทบเฉพาะโรงงานที่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น โรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ทำดีและถูกต้องมาตลอด งานนี้ไม่มีกระทบครับ ... แต่จะช่วยแยกระหว่างน้ำดีและน้ำเสียให้ชัดเจนขึ้น โดยมีทาง อย. เป็นคนช่วยแยกให้ชัดเจนขึ้น (น่าจะทำแบบนี้ให้จริงจัง ตั้งนานแล้วนะ) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่อยากจะหาโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ดีมีคุณภาพ ได้ง่ายขึ้น


ที่กล่าวมานี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทำไมพวกเราจึงได้เห็นหลายเว็บไซต์ที่เคยอ้างว่าเป็นโรงงานผลิตเครื่องสำอาง ต้องปิดตัวลง (ไม่รู้ว่ากลัวอะไร) หรือไม่ก็ต้องปลดคำว่า CODEX GMP และ ISO 9001:2008 ออกจากเว็บไซต์ และบางเว็บไซต์ที่ดีหน่อย จากที่เคยอ้างแบบเต็มยศว่า Certified with CODEX GMP and ISO 9001:2008 ก็ลดลงเป็นเพียงแค่ ASEAN GMP เท่านั้น!

ปล.: -


CODEX GMP เป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การรับรอง ดังนั้น ถ้ามีเป้าหมายที่จะส่งเครื่องสำอางไปจำหน่ายทั่วโลก แนะนำครับ แต่ถ้าต้องการเพียงแค่ขายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เอาแค่มาตรฐาน ASEAN GMP ก็เพียงพอครับ


ส่วน ISO 9001 ตอนนี้มี 2 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่นปี 2008 ซึ่งเป็นของเก่า และกำลังจะเลิกใช้ในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้านี้ ส่วนเวอร์ชั่นใหม่ 2015 เป็นตัวล่าสุด (แต่ก็โหดสุดๆ ที่จะขอการรับรอง .... ไม่หมู แต่ก็ไม่ยาก)


ขอแจ้งเพิ่มเติมนะว่า ISO 9001 ทั้ง 2 เวอร์ชั่นนี้ ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แบบ รง.4 เท่านั้นจึงจะขอ ISO 9001 ได้นะครับ ถ้าไม่มีหมดสิทธ์เลยครับ ซึ่งการจะได้ใบ รง.4 มานี่ ตัวโรงงานก็ต้องตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีม่วงเท่านั้น




bottom of page