การแก่ชราเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายมิติ เพื่อให้ชีวิตของเรายืนยาวและมึสุขภาพดี ปัจจุบันเราพบว่า ขึ้นอยู่กับการทำงานที่สมดุลกันของ 4 ปัจจัย ที่เรียกว่า "Nutrient Sensors"
insulin หรือ IIS pathway - เกี่ยวพันกับอินซูลินและ insulin-like growth factor 1 (IGF-1) ที่ปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง นอกจากนี้ อินซูลินยังเป็นปัจจัยหลักที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ (Cell growth & division) และก็ยับยั้ง autophagy (กระบวนการย่อยสลายตัวเองและรีไซเคิลชิ้นส่วนของเซลล์) หากทำงานมาก หรือหลั่งออกมามาก จะทำให้แก่เร็วและร่างกายเสื่อมลง อาหารประเภทน้ำตาล แป้ง และโปรตีน จะกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ถ้าหลั่งออกมามากเกิน จะนำไปสู่ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) เมื่อเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลดลง แต่ร่างกายยังคงตอบสนองด้วยการผลิตอินซูลินเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้มีอินซูลินมาก ก็ทำให้ร่างกายแก่ชราเร็วมากขึ้น
The mTOR pathway (Mechanistic of Rapamycin) - ถูกกระตุ้นโดยกรดอะมิโน โดยเฉพาะ ลิวซีน (พบในโปรตีน) จะควบคุมกระบวนการเพิ่มจำนวนเซลล์ การเติบโตของเซลล์ (Cell growth & division) ในร่างกาย mTOR สัมพันธ์กับโปรตีนที่เรากินเข้าไป หากกระตุ้นให้เกิด mTOR มาก จะส่งผลทำให้เซลล์เสื่อมไว กระบวนการรีไซเคิลโปรตีนของเซลล์ที่เรียกว่า "Autophagy" จะลดลง เกิดโปรตีนสะสมมากไปในเซลล์จนเซลล์เสื่อมและตายไป
Sirtuin pathway ถูกกระตุ้นโดย NAD+ จะควบคุมการแสดงออกของยีนโดยการปรับเปลี่ยนฮิสโตนและโปรตีนอื่นๆ ช่วยเพิ่ม autophagy, การซ่อมแซม DNA, การทำงานของไมโตคอนเดรีย และการต้านทานความเครียด นอกจากนี้ยัง ยับยั้ง เส้นทาง IIS และ mTOR
AMPK pathway เป็นโมเลกุลที่คอยปรับสมดุลพลังงานในเซลล์ หากเซลล์มีพลังงาน (ATP) ต่ำ AMPK จะทำงานมากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลพลังงาน ตรงกันข้าม หากเซลล์มีพลังงาน (ATP) สูง AMPK จะทำงานลดลง นอกจากนี้ AMPK ยังส่งเสริม Autophagy อีกด้วย
เส้นทางการตรวจจับสารอาหารเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นต่อการรักษาสภาวะสมดุลของเซลล์และการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น เส้นทางเหล่านี้จะถูกควบคุมลดน้อยลงหรือควบคุมไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น การอักเสบเรื้อรัง ความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ความเสียหายของ DNA, การเปลี่ยนแปลงของอีพิเจเนติกส์, การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ที่อาจจะเปิดให้ใช้งานมากหรือน้อยเกินไป ในทิศทางที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สมดุลก็เป็นได้
การสูญเสียการควบคุมการตรวจจับสารอาหาร (Deregulated nutrient sensing) จึงส่งผลเสียต่อการทำงานของเซลล์ เช่น:
IIS และ mTOR ถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เพิ่มจำนวนเซลล์ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังทำลาย autophagy และเพิ่มความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้เซลล์เสียหายและทำงานผิดปกติได้
การกระตุ้น Sirtuin และ AMPK ที่น้อยเกินไป จะลดการทำงานของ autophagy และไมโตคอนเดรีย ทำให้ควบคุมการผลิตพลังงานลดลง นอกจากนี้ ยังจะลดความต้านทานต่อความเครียดและการซ่อมแซม DNA
สรุป เราสามารถปฏิบัติตัวเพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียการควบคุมนี้ได้ ดังต่อไปนี้
รักษาสมดุลร่างกาย โดยไม่กระตุ้นอินซูลินออกมามากเกินไป (ไม่ให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน)
ไม่กระตุ้น mTOR มากเกินไป นั่นคือ ลดการทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ลง ทานโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น และไม่เน้นทานโปรตีนสูงเกินไป
ทำ Intermittent Fasting (IF) - เพื่อลด Insulin resistance & mTOR เพื่อกระตุ้น AMPK ส่งเสริมกระบวนการ Autophagy
ออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบสมดุล (Balance Cardio & Weight Training Exercise) เพื่อกระตุ้น AMPK
เสริมสารอาหารบางชนิด (Dietary supplements) ที่พอมีข้อมูลสนับสนุนว่ากระตุ้น AMPK เช่น สารกลุ่มโพลิฟีนอล (ในผลไม้หลากหลายชนิดและอื่น ๆ) ดื่มชาเขียว หรือ เสริมสารสกัดชาเขียว (EGCG), ดื่มไวน์แดง, ดื่มกาแฟ, เสริมกรดไขมันโอเมก้า 3, ทานปลาทะเลที่มีไขมัน เป็นต้น (แนะนำปรึกษาและดูแลสั่งจ่ายโดยแพทย์เสมอ)
==================
อ้างอิง:-
- All about deregulated nutrient sensing and how it affects aging – QYRAL
López-Otín, C., Blasco, M. A., Partridge, L., Serrano, M., & Kroemer, G. (2013). The hallmarks of aging. Cell, 153(6), 1194-1217.
Milman, S., Huffman, D. M., & Barzilai, N. (2016). The Somatotropic Axis in Human Aging: Framework for the Current State of Knowledge and Future Research. Cell Metabolism, 23(6), 980-989. doi:10.1016/j.cmet.2016.05.014
Salminen, A., & Kaarniranta, K. (2012). AMP-activated protein kinase (AMPK) controls the aging process via an integrated signaling network. Ageing Research Reviews, 11(2), 230-241. doi:10.1016/j.arr.2011.12.005
Yorumlar