top of page
dr.bunlue

กลไกของความชรา – 5 : สภาวะอ่อนล้าของไมโตคอนเดรีย



ปัจจุบันความรู้ในทางการแพทย์ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในเครื่องสำอางกันมาก (ในต่างประเทศ โดยเฉพาะแบรนด์เนมที่มีชื่อ) ซึ่งเครื่องสำอางที่มีราคาแพงเหล่านี้ ล้วนนำวิทยาการทางแพทย์มาประยุกต์เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ   เนื่องจากสภาวะการตลาดในปัจจุบัน มีการแข่งขันกันสูงมาก และผู้บริโภคก็มีความรู้ที่ดีขึ้น รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตที่ง่ายกว่าในอดีต   ด้วยเหตุนี้นักการตลาดจึงจำเป็นต้องหาจุดขายที่ดีและแตกต่างสำหรับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อให้ได้เปรียบเหนือผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง   วิทยาการทางการแพทย์จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นจุดขายทางการตลาด

       

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงจำเป็นต้องปูพื้นฐานทางการแพทย์ให้สมาชิกเบร ฯ ทุกท่านได้คุ้นเคยและทำความเข้าใจให้ดี และเมื่อถึงบทสุดท้าย ผมจะแสดงให้สมาชิกเบร ฯ ทุกท่านได้เห็นว่า สินค้าแบรนด์เนมเหล่านั้นเขาใช้ Concept อะไรทางการแพทย์เพื่อชูเป็นจุดขายทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของตน   จากนั้นผมจะแนะนำวิธีการในการประยุกต์แนวคิดทางการแพทย์เพื่อสร้างจุดขายให้ทุกท่านได้เข้าใจ


... และท้ายที่สุด พวกคุณทุกคนก็จะสามารถสร้างจุดขายทางการแพทย์เพื่อผลิตภัณฑ์ของคุณเองได้ — ด้วยตัวของคุณเอง!   ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือและน่าสนใจ และนำมาซึ่งยอดขายที่สูงขึ้น!

       

ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา ผมอยากให้สมาชิกทุกท่านได้ทำความเข้าใจก่อนว่า ไมโตคอนเดรียคืออะไร? มีบทบาทต่อเซลล์อย่างไรบ้าง? ซึ่งเรื่องนี้อาจจะใหม่สำหรับสมาชิกที่ไม่ได้เรียนมาทางสายวิทย์ ผมจึงพยายามปรับแต่งเนื้อหาให้อ่านเข้าใจง่าย



ไมโตคอนเดรีย (Mitochrondria)

       

ไมโตคอนเดรียเป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์ กระบวนการสำคัญต่างๆ ในเซลล์จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยพลังงานที่สร้างจากไมโตคอนเดรียเป็นหลัก   แต่ไมโตคอนเดรียเองก็เสี่ยงต่อการถูกทำลายได้ง่ายจากอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในระหว่างการเผาผลาญพลังงาน (ให้อ่านบทความเรื่อง กลไกของความชรา – 2 : อนุมูลอิสระ (ตอนที่ 1) เพิ่มเติม) และเนื่องจากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ และการสร้างพลังงานที่ลดลง เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความชราภาพ   ดังนั้น จึงเชื่อว่า ไมโตคอนเดรียมีบทบาทค่อนข้างสำคัญต่อกลไกของความชรา

       

ไมโตคอนเดรียมีความสำคัญมากต่อกระบวนการทำงานต่างๆ ของเซลล์  ด้วยเหตุนี้ จึงมีไมโตคอนเดรียเป็นจำนวนมากภายในเซลล์ และไมโตคอนเดรียเองก็ยังมีคุณสมบัติในการจำลองตัวเองได้เพื่อเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น และสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระ   แต่อย่างไรก็ตาม ไมโตคอนเดรียก็มีความเปราะบาง ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดในการป้องกันเซลล์จากความชรา



ไมโตคอนเดรีย ดีเอ็นเอ (Mitochrondrial DNA)

       

ความเสียหายของ DNA ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในกลไกของความชรา เพราะว่าความเสียหายบางส่วนซ่อมแซมได้ แต่บางส่วนก็ไม่สามารถซ่อมแซมได้

       

โดยปกติ ในเซลล์มีส่วนประกอบ 2 ส่วนที่มี DNA นั่นคือ

  • นิวเคลียส   และ ...

  • ไมโตคอนเดรีย  

       

สารพันธุกรรมส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในนิวเคลียส และมีเพียงบางส่วนที่เก็บไว้ในไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อ DNA   ดังนั้น DNA ในไมโตคอนเดรีย จึงได้รับความเสียหายจากอนุมูลอิสระมากกว่า DNA ที่อยู่ในนิวเคลียส

       

DNA ในไมโตคอนเดรียมีความเสี่ยงต่อการถูกทำลายมากกว่า DNA ในนิวเคลียส ถึง 10 เท่า   ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า อนุมูลอิสระส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในไมโตคอนเดรียในระหว่างที่มีการเผาผลาญพลังงาน   นอกจากนี้ DNA ในไมโตคอนเดรีย ไม่ได้รับการปกป้องโดยโปรตีนและมีระบบซ่อมแซมที่ดีเหมือน DNA ที่อยู่ในนิวเคลียส



สภาวะอ่อนล้าของไมโตคอนเดรีย (Mitochrondrial Burnout)

       

ความสามารถในการสร้างพลังงานของไมโตคอนเดรียลดลงตามอายุ เนื่องจากไมโตคอนเดรียเป็นส่วนแรกในเซลล์ที่เสื่อมสภาพตามอายุ กระบวนการนี้ เราเรียกว่า สภาวะอ่อนล้าของไมโตคอนเดรีย (Mitochrondrial Burnout)   ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การเผาผลาญพลังงานภายในเซลล์ลดลง ความสามารถในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ก็ลดลงด้วย และเกิดความเสื่อมโทรมของโรคต่างๆ ตามมามากขึ้น


ความเครียด เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเร่งให้เกิดสภาวะอ่อนล้าของไมโตคอนเดรีย   เมื่อเกิดความเครียด จะทำให้มีการเผาผลาญพลังงานในเซลล์เพิ่มขึ้น ทำให้ไมโตคอนเดรียทำงานหนักยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้เกิดอนุมูลอิสระมากขึ้นตามมา และถ้าความเครียดนั้นยังคงอยู่อย่างเรื้อรัง เป็นผลให้ผนังเซลล์ของไมโตคอนเดรียเปราะบางและถูกทำลายได้ง่าย จึงเกิดรอยรั่วขึ้นที่ผนังของไมโตคอนเดรีย ซึ่งจะไปรบกวนสมดุลของระดับพลังงานและสารเคมีภายในเซลล์   ถ้าความเสียหายนี้รุนแรง ก็จะช่วยเร่งกระบวนการชราภาพให้เร็วขึ้น และการเกิดโรคภัยต่างๆ ตามมา



สารอาหารที่ป้องกันการเกิดสภาวะอ่อนล้าของไมโตคอนเดรีย

       

การที่ไมโตคอนเดรียมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งผลิตพลังงาน และตัวมันเองก็มีความเสี่ยงต่อการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ ทำให้ไมโตคอนเดรียเป็นส่วนสำคัญที่ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการเสื่อมสภาพ และความเครียด  

       

จากการศึกษาพบว่า การป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะอ่อนล้าของไมโตคอนเดรีย ถือว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งในการทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น   นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า มีสารอาหารสำคัญหลายตัว ที่ช่วยเพิ่มการทำงานของไมโตคอนเดรียให้ดีขึ้น เช่น อะเซทิล แอล คาร์นิทีน (ALC), โคเอ็นไซม์คิวเท็น (CoQ10) และ กรดอัลฟ่าไลโปอิก (R-ALA)



อะเซทิล แอล คาร์นิทีน (ALC) ช่วยในการขนส่งกรดไขมันเข้าสู่ไมโตคอนเดรีย  แม้ว่าร่างกายคนเราจะสามารถสร้าง ALC ขึ้นเองได้ แต่อัตราการสร้างจะลดลงตามอายุ   อาหารที่มี ALC จะช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันในไมโตคอนเดรียให้ดีขึ้น ทำให้มีการสร้างพลังงานเพิ่มขึ้น

จากการศึกษาพบว่า ALC มีประโยชน์ในการรักษาโรคบางชนิดที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจ และระบบประสาท

โคเอ็นไซม์คิวเท็น (CoQ10) มีบทบาทสำคัญ 2 อย่างคือ

  • ช่วยเรื่องการเผาผลาญพลังงานในไมโตคอนเดรีย

  • เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

CoQ10 ช่วยเพิ่มอัตราและประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานให้กับเซลล์ ขณะเดียวกันก็ยังช่วยป้องกันไมโตคอนเดรียจากอนุมูลอิสระ   ร่างกายเราสามารถสร้าง CoQ10 ได้เอง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้การสร้างลดลง เช่น อายุ ความเจ็บป่วย ยาลดโคเลสเตอรอล และภาวะขาดสารอาหาร

CoQ10 บางทีเรียกว่าเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) แห่งความชรา เพราะว่า ระดับของ CoQ10 สัมพันธ์กับอายุ และความเสื่อมของโรค   บางงานวิจัยพบว่า การให้อาหารที่มี CoQ10 จะช่วยเพิ่มอายุขัยในสัตว์ทดลองได้   สำหรับในคน มีหลายงานวิจัยบ่งชี้ว่า CoQ10 มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว และโรคอื่นๆ ของกล้ามเนื้อหัวใจได้ด้วย   นอกจากนี้ CoQ10 ยังช่วยรักษาความดันโลหิตสูง ความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกัน และอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

กรดอัลฟ่าไลโปอิก (R-ALA) เหมือนกับ CoQ10 คือ เป็นส่วนสำคัญของการเผาผลาญพลังงานในไมโตคอนเดรีย อีกทั้งยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่แรง (Potent Antioxidant) ด้วยเช่นกัน   บางรายงานพบว่า การให้อาหารที่มี R-ALA จะช่วยลดปริมาณอนุมูลอิสระในไมโตคอนเดรียได้มาก และช่วยเพิ่มการสร้างพลังงานได้ดี

       


แม้ว่าจะมีรายงานว่า ALC, CoQ10 และ R-ALA มีบทบาทในการป้องกันและช่วยฟื้นฟูไมโตคอนเดรีย แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาอีกมาก เพื่อจะดูว่ามีสารตัวอื่นอีกหรือไม่ที่ช่วยลดสภาวะอ่อนล้าของไมโตคอนเดรียในระยะยาว





Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page