ทำไมเราถึงแก่ชรา?
top of page

ทำไมเราถึงแก่ชรา?

อัปเดตเมื่อ 16 ม.ค.




... อะไรเป็นสาเหตุ?


เมื่อเรามีอายุมากขึ้น เราจะรู้สึกว่า กำลังวังชาเริ่มน้อยลง ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม เมื่อยล้าและอ่อนเพลียง่าย เริ่มมีอาการปวดตามข้อ / มีอาการผิดปกติตามมาหลายอย่าง อาการผิดปกติเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายร่างกายทำงานต่อไม่ไหว และก็ตายในที่สุด


ที่กล่าวมานี้เป็นอาการที่เราเรียกกันว่า โรคชรา (Ageing)




ถ้าเราลองมองย้อนกลับ โดยเริ่มที่เซลล์ก่อน (ซึ่งเป็นหน่วยมีชีวิตที่เล็กที่สุด) จะพบว่าเซลล์เริ่มเสื่อมสภาพ ทำงานน้อยลงและแบ่งตัวน้อยลง ⇛ อวัยวะทำงานน้อยลง เสื่อมสภาพ ⇛ ระบบต่างๆ เริ่มทำงานน้อยลงตามลำดับ และเสื่อมสภาพ ⇛ ระบบทั่วร่างกายล้มเหลว ⇛ ตาย!


จะเห็นว่า ทั้งหมดเริ่มจากเซลล์ก่อน แล้วขยายไปยังอวัยวะ ไปที่ระบบต่างๆ สุดท้ายคือความล้มเหลวของระบบทั่วร่างกาย


บทความนี้ ผมจึงอยากปูพื้นฐานเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาและทำความเข้าใจ จึงรวบรวมและแบ่งเป็นเรื่องสั้นๆ ก่อนจะไปขยายความในตอนต่อไป โดยจะเป็นการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในเซลล์เป็นหลัก และสภาวะแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ส่งผลให้เกิดโรคชรา - Hallmarks of Aging


  1. ไมโตคอนเดรียทำงานผิดปกติ (Mitochondria Dysfunction)

  2. การเสื่อมสภาพของเซลล์ (Cellular Senescence)

  3. สูญเสียสภาวะสมดุลย์ของโปรตีน (Loss of Proteostasis)

  4. มีการเปลี่ยนแปลงการสื่อสารระหว่างเซลล์ (Altered Intercellular Communication)

  5. ความไม่เสถียรของยีน (Genomic Instability)

  6. การเปลี่ยนแปลงของอีพิจีโนม (Epigenetic Alterations)

  7. การหดสั้นของทีโลเมียร์ (Telomere Shortening)

  8. สูญเสียการควบคุม Nutrient-Sensing Complex (Deregulated Nutrient-Sensing Complex)

  9. ความอ่อนล้าของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Exhaustion)

  10. กลไกออโทฟาจีทำงานผิดปกติ (Disabled Macroautophagy)

  11. การอักเสบจากความชรา (Inflammaging)

  12. การเสียสมดุลย์ของจุลินทรีย์ในร่างกาย (Microbiome Dysbiosis)


--------------------------------



ไมโตคอนเดรียทำงานผิดปกติ (Mitochondrial Dysfunction)

ปกติไมโตคอนเดรียจะเป็นแหล่งผลิตพลังงานให้กับเซลล์ เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมทุกอย่างของเซลล์ ทั้งการทำงานทั่วไป จนถึงการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์ ดังนั้นไมโตคอนเดรียจึงเทียบได้กับเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าของเมือง ถ้าโรงงานไม่ทำงานหรือทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้เซลล์เริ่มเสื่อมสภาพลง ซึ่งภาวะแบบนี้พบในเซลล์ที่อายุมาก - อ่านเพิ่มเติม!




การเสื่อมสภาพของเซลล์ (Cellular Senescence)

เซลล์ปกติจะทำงานดี แต่เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์พวกนี้ก็จะเริ่มทำงานน้อยลงและเสื่อมสภาพในที่สุด ซึ่งโดยกลไกปกติของร่างกาย เซลล์ที่เสื่อมสภาพนี้จะปล่อยสาร SASP (มีทั้ง Cytokine, Chemokine และสารอื่นๆ) ออกมา เพื่อดึงดูดให้เซลล์แมคโครฟาจ (Macrophage) มาทำลายเซลล์ที่เสื่อมสภาพ แต่มีเซลล์เสื่อมสภาพบางส่วนไม่ถูกทำลายและยังคงปล่อยสาร SASP ต่อไป เราเรียกเซลล์พวกนี้ว่า เซลล์ซอมบี้


เซลล์ซอมบี้จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วตามอายุที่มากขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ถูกทำลายตามมาด้วย


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!




สูญเสียสภาวะสมดุลย์ของโปรตีน (Loss of Proteostasis)

ปกติร่างกายจะผลิตโปรตีนเพื่อนำมาใช้งานในกระบวนการต่างๆ ทั้งภายในเซลล์และนอกเซลล์ เมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็จะถูกทำลายทิ้ง (ผ่านกระบวนการต่างๆ ของร่างกาย) แต่ก็จะมีโปรตีนบางส่วนที่ถูกทำลายไม่หมด จึงเหลือตกค้าง เกิดการสะสมขึ้น


เมื่ออายุมากขึ้น โปรตีนเหล่านี้ก็จะพอกพูนมากขึ้นและไปขัดขวางการทำงานตามปกติของเซลล์ได้


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!



มีการเปลี่ยนแปลงการสื่อสารระหว่างเซลล์ (Altered Intercellular Communication)

เมื่อเราอายุมากขึ้น สภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษจะส่งสัญญานที่ไม่เหมาะสมไปทั่วทั้งร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น มีการยับยั้งระบบภูมิต้านทาน และเป็นเหตุให้กล้ามเนื้ออ่อนล้า และผลเสียอื่นๆ ตามมา ซึ่งผลกระทบนี้มีไปถึงสเต็มเซลล์ด้วย


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!



ความไม่เสถียรของยีน (Genomic Instability)

ในขณะที่เราอายุมากขึ้น, DNA ของเราก็จะถูกทำลาย จากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยเฉพาะสเต็มเซลล์และเซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว DNA ที่เสียหายจากถูกทำลายนี้จะส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติและจะกระทบไปถึงการทำงานของเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ ได้


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!




การเปลี่ยนแปลงของอีพิจีเนติก (Epigenetic Alterations)


ปกติอีพิจีโนมจะเป็นตัวควบคุมการทำงานของยีนว่า จะทำเมื่อไหร่ ที่ไหน เมื่อไหร่ที่ควรปิด เมื่อไหร่ที่ควรเปิดสวิทช์ให้ยีนทำงาน


เมื่อเราอายุมากขึ้น อีพิจีโนมจะถูกกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และปัจจัยภายในร่างกายเอง เป็นเหตุให้อีพิจีโนมเกิดปัญหา เช่น ควรปิดสวิทช์ยีน ในเวลาที่ควรเปิด หรือกลับกัน ส่งผลให้เซลล์ทำงานผิดปกติได้


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!




การหดสั้นของทีโลเมียร์ (Telomere Shortening)

เมื่อเราอายุมากขึ้น ส่วนปลายของโครโมโซมที่เรียกว่า ทีโลเมียร์ จะสั้นลงเรื่อยๆ จากการแบ่งตัวของเซลล์ทุกครั้ง การสั้นลงของทีโลเมียร์จะส่งผลให้ยีนไม่มีความเสถียร และสุดท้ายมีผลต่อการทำงานของเซลล์


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!




สูญเสียการควบคุม Nutrient-Sensing Complex (Deregulated Nutrient-Sensing Complex)

เมื่ออายุเรามากขึ้น Nutrient-Sensing Complex (ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ที่ควบคุมการผลิตและใช้พลังงานของเซลล์) ได้สูญเสียการควบคุม ทำให้การทำงานของเซลล์รวน ไม่เป็นไปตามปกติ


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!




ความอ่อนล้าของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Exhaustion)

ปกติสเต็มเซลล์จะทำหน้าที่แบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์เข้าไปทดแทนเซลล์ที่ตายในอวัยวะนั้นๆ แต่เมื่ออายุเรามากขึ้น สเต็มเซลล์จะทำงานน้อยลง หรือสูญเสียการทำงาน และก็ตายในที่สุด และทำให้อวัยวะนั้นเสื่อมสภาพได้


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!




กลไกแมคโครออโทฟาจีทำงานผิดปกติ (Disabled Macroautophagy)

แมคโครออโทฟาจีเป็นกระบวนการที่เซลล์ใช้กำจัดของเสียที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ หรือจะเรียกว่า ขับสารพิษออกจากเซลล์ก็ได้ เมื่อเราอายุมากขึ้น กระบวนนี้จะทำงานลดน้อยลง ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษและของเสียอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ ตามมาได้


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!




การอักเสบจากความชรา (Inflammaging)

เป็นการอักเสบเรื้อรังที่ไม่รุนแรงมาก ที่เป็นผลจากความแก่ชรา จะช่วยส่งเสริมให้เกิดโรคที่สัมพันธ์กับอายุ รวมไปถึงโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคระบบประสาทเสื่อม


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!




การเสียสมดุลย์ของจุลินทรีย์ในร่างกาย (Microbiome Dysbiosis)

การเสียสมดุลย์ของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ จะทำให้เกิดความผิดปกติในระบบลำไส้ ระบบภูมิต้านทาน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดโรคเรื้อรังอื่นตามมาได้


อ่านเพิ่มเติม... คลิก!



ที่กล่าวมาเป็นเพียงบทความสั้นๆ เพื่อให้มองเห็นภาพและผมจะขยายความต่อไป และเข้าใจได้ว่า แต่ละสาเหตุจะมีวิธีการอย่างไรในการรักษา






bottom of page