กลไกของความชรา (Mechanism of Aging)
top of page

กลไกของความชรา (Mechanism of Aging)

คุณเคยตั้งข้อสงสัยหรือไม่ว่า

  • ทำไมเวลาผู้หญิงเข้าสู่วัยรุ่นแล้วจะเริ่มมีประจำเดือน?

  • ทำไมเมื่อผู้หญิงย่างเข้าสู่อายุ 45 ปี ถึงเริ่มหมดประจำเดือน?

  • ทำไมเด็กผู้ชายถึงเสียงแหบตอนย่างเข้าสู่วัยรุ่น?

  • ทำไมตอนอายุเข้าวัย 50 ปี คนเราถึงเริ่มมีผมหงอก?

  • ทำไม ... ? (อีกมาก)



เหตุการณ์ต่างๆ ที่ผมนำมาเกริ่นนี้ เหมือนกับเป็นแบบแผนที่ถูกกำหนดขึ้นมาและมีผลกับคนทั่วไปทุกคน และเป็นสภาวะที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ — จริงมั้ยครับ?

       

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นผลที่เกิดจากการทำงานของกลไกของความชรา ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ มากมายภายในร่างกายที่ทำงานสอดรับและสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม ซึ่งกลไกเหล่านี้ยากที่จะทำการศึกษาเพียงเรื่องเดียว แล้วจะนำมาอธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดได้   จึงมีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงกลไกของความชรานี้ โดยอ้างถึงความสัมพันธ์ที่กระบวนต่างๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงกัน

       

ครับ... วันนี้ ผมจะขอเอาเรื่องนี้มาเรียบเรียงเป็นตอนๆ เพื่อให้ง่ายต่อสมาชิกทุกท่านในการทำความเข้าใจ เนื่องจากสมาชิกเบรที่ติดตามอ่านบทความมีอยู่กันเป็นจำนวนมาก และมีระดับการศึกษา รวมทั้งประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นผมจึงขอใช้ศัพท์และยกตัวอย่างที่ง่ายๆ บางทีอาจจะดูไม่เหมือนกับมืออาชีพ ก็ขอให้เข้าใจด้วยครับ

       

หลังจากจบบทความนี้ทั้งหมดแล้ว ผมมั่นใจว่า พวกเราจะมีความเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น แต่จะนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนครับ ... และก็แน่นอนครับ พวกเราไม่อาจจะหยุดยั้งความชรา – หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้ แต่พวกเราสามารถจะชะลอการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ครับ ... ผมขอยืนยัน!

       

เริ่มเลยนะครับ...

       

ปัจจุบันนี้ได้มีการแบ่งกลไกของความชราออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ด้วยกันดังนี้

  • การสั่งสมความเสียหายในระดับเซลล์ที่เกิดขึ้นกระจายทั่วทั้งร่างกาย เรียกทับศัพท์ว่า Microaccidents

  • ความชราภาพที่ถูกโปรแกรมไว้ในระดับพันธุกรรม ซึ่งก็คือ นาฬิกาช่วงชีวิต เรียกทับศัพท์ว่า Aging clocks


Microaccidents

       

มีการสั่งสมความเสียหายในระดับเซลล์ที่เกิดขึ้นกระจายทั่วร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงสภาวะที่ไปทำลายโครงสร้างสำคัญของร่างกาย (การทำลายนี้มองเห็นได้ เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์)   ยกตัวอย่างเช่น

  • อนุมูลอิสระ ของเสียที่เกิดจากการทำงานของเซลล์ และเป็นตัวสำคัญในการทำลาย DNA และโปรตีน

  • Mutagen เป็นสารเคมีที่มีผลต่อ DNA ทำให้รบกวนการทำงานของยีนได้ หรือ

  • สารเคมีบางอย่าง เช่น อัลดีไฮด์ ทำให้เกิดผลเสียต่อส่วนประกอบภายในเซลล์

  • อื่นๆ ...

       

ความเปลี่ยนแปลงพวกนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาในเซลล์ของเรา ส่วนใหญ่จะไม่มีผลเสียหายต่อร่างกายมากนัก เพราะตามธรรมชาติของร่างกายเราจะมีกระบวนการเข้าไปแก้ไข และก็อาจจะมีบางส่วนที่หลุดรอดมาได้ ซึ่งก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้ามีการสั่งสมความเสียหายเล็กๆ เหล่านี้รวมกันหลายวันเข้า ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ ได้ รวมไปถึงเมื่อพวกเรามีอายุมากขึ้น กระบวนการแก้ไขนี้อาจจะบกพร่องหรือมีประสิทธิภาพลดลง การเปลี่ยนแปลงพวกนี้แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียได้เช่นกัน



Aging Clocks

       

ในยุคเริ่มต้นที่มีการวิจัยเรื่องอายุ มีข้อถกเถียงกันมากว่า Aging clock มีจริงหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงพบว่า สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวจะไม่มี aging clock พวกมันจึงสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่จำกัด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ก็มีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนว่า สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะมี aging clock มากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป



สรุป


เซลล์ส่วนใหญ่ในสิ่งมีชีวิตระดับสูง จะมีนาฬิกาช่วงชีวิต หมายความว่า เซลล์พวกนี้ถูกจำกัดจำนวนในการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณ เช่น เซลล์ผิวหนังกบ สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เพียง 10 ครั้ง เป็นต้น – เรียกว่า Cellular clock

เซลล์ส่วนใหญ่ในสิ่งมีชีวิตระดับสูง จะมีนาฬิกากลางอยู่ที่สมอง ซึ่งจะคอยติดตามการพัฒนาการและช่วงอายุของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ – เรียกว่า Central clock

Biological clock – นาฬิกาตัวนี้จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในแต่ละคน แต่ละเผ่าพันธุ์ชีวิต ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมภายนอกจะมีผลต่อนาฬิกาให้เดินเร็วหรือช้าได้ ยกตัวอย่างเรื่องความเครียดจะไปเร่งให้นาฬิกานี้เดินเร็วขึ้น เป็นต้น

Note: ตัวอย่างของ Aging clock ที่ชัดเจน คือ นาฬิกาที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ในผู้หญิง ซึ่งจะเปิดใช้งานเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ผู้หญิงก็จะเริ่มมีประจำเดือน และเมื่ออายุประมาณ 45 ปี นาฬิกาที่ว่านี้ก็จะปิดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง เป็นต้น





bottom of page